วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ทปอ. เผย 5 วิธีปรับระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ปี 61 ยัน ทปอ.ใช้ข้อสอบ GAT/PAT ต่อ




ทปอ. เผย 5 วิธีปรับระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ปี 61 ยัน ทปอ.ใช้ข้อสอบ GAT/PAT ต่อ คาดปฏิทินคลอดภายในเดือนธ.ค.2559


              เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวภายหลังการประชุม ทปอ.ว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณาการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561  และมีมติว่ามหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ.จะดำเนินการปรับระบบการคัดเลือกในปีการศึกษา 2561 

             โดยยึดหลักการคือ

            1. จะต้องไม่ให้นักเรียนวิ่งรอกสอบ
            2. ให้อยู่ในห้องเรียนจนจบการศึกษาหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย
            3. ต้องไม่เป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่าย
            4. ต้องให้สิทธิเด็กในการเลือกเข้าคณะ และมหาวิทยาลัยขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยต้องมีสิทธิเลือกเด็กเช่นเดียวกัน

            โดยกำหนดการสอบนั้น คาดว่าจะเริ่มกระบวนการได้ประมาณเดือนต.ค. ซึ่งมีวิธีการดำเนินการสอบ 5 วิธี ดังนี้

            1. เปิดรับนักเรียนโควตา อาจจะเป็นโควตาพื้นที่ ภูมิภาคต่างๆ โควตาความสามารถพิเศษ โดยจะไม่มีการสอบข้อเขียน แต่จะให้นักเรียนยื่นแฟ้มสะสมงาน และวิธีการนี้จะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม โดยมหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องส่งรายชื่อนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกมายังส่วนกลางเพื่อตัดสิทธิ์ หรือเปิดพรีเคลียริ่ง อีก 1 รอบ      

            2. โควตาแบบใช้ข้อสอบข้อเขียน โดยใช้ข้อสอบกลาง   ประมาณ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม

            3. เปิดเคลียร์ริ่งเฮาส์ หรือระบบรับตรงกลางร่วมกัน  จะมีการเปิดรับสมัคร 2 รอบ โดยเริ่มดำเนินการเคลียร์ริ่งเฮาส์รอบแรก ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 

            4. เปิดเคลียร์ริ่งเฮาส์ รอบ 2 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ห่างจากรอบแรก ประมาณ 1 เดือน  โดยการสอบเคลียร์ริ่งเฮาส์ทั้ง 2 รอบ จะใช้ข้อสอบกลาง ได้แก่ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) GAT/PAT วิชาสามัญ 9 วิชา  และวิชาเฉพาะของสาขาวิชาต่างๆ ทั้งนี้ การสอบเคลียร์ริ่งเฮาส์ทั้ง 2 รอบจะต้องให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน และในส่วนของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) ก็จะมาใช้ระบบเคลียร์ริ่งเฮาส์เช่นเดียวกัน โดยส่วนกลางจะจัดสอบวิชาเฉพาะทางแพทย์ ทั้งนี้  จากการสอบวิธีการดังกล่าว คาดว่าจะรับนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยได้ประมาณ 90%  

             5. เปิดรับตรง โดยมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ดำเนินการเอง อย่างไรก็ตาม ระบบการสอบแบบใหม่นี้ เด็กจะมี 1 สิทธิเท่านั้น เพราะเมื่อนักเรียนใช้สิทธิเข้าวิธีใดวิธีหนึ่ง มีที่เรียนแล้วจะถูกสละสิทธิ์ไม่สามารถเข้าร่วมวิธีการอื่นได้ รวมถึงจะต้องไม่มีการให้เปิดสอบเอง แต่จะใช้ข้อสอบกลาง หรือแนวทางอื่นๆ ทั้งนี้ ส่วนช่วงเวลาในการสอบนั้น ยังไม่ได้เวลาที่ชัดเจนคณะทำงานจะไปหารือสรุปอีกครั้ง และสำหรับปฏิทินรวมถึงวิธีการในการรับนักเรียนเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา จะต้องมีความชัดเจนภายในปลายปี หรือเดือนธ.ค.2559

            ศ.คลินิก นพ. อุดม กล่าวต่อว่านอกจากนั้น ที่ประชุมได้มีการรายงานผลดำเนินการ โครงการวิจัยเรื่อง “การตรวจสอบคุณภาพแบบทดสอบและการประเมินผลการนำคะแนน O-NET GAT/PAT ไปใช้ในการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งพบว่าคะแนนO-NET  GAT/PAT  มีคุณภาพและสามารถพยากรณ์องค์ความรู้ของนักเรียนในการเข้าเรียนคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้ ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้ใช้คะแนน O-NET  GAT/PAT  ในการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในอุดมศึกษาต่อไป โดยจะมีการปรับกระบวนการออกข้อสอบให้มีความสมบูรณ์ เป็นสากลมากขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของโรงเรียนจะต้องปรับการเรียนการสอน ปรับปรุงข้อสอบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะมีการจัดสอบ GAT/PAT เพียงครั้งเดียว แต่สัดส่วนที่จะนำคะแนน GAT/PAT ไปใช้ในการคัดเลือกเด็กนั้นเปิดกว้างให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไปกำหนดเอง

            อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ทปอ.จะนำเสนอผลการปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ปี 2561 เสนอต่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน เพื่อพิจารณาต่อไป


 อ้างอิง komchadluek

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น